ธ.ก.ส. เดินหน้าสนับสนุนสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี

ธ.ก.ส. เดินหน้าสนับสนุนสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี

 ธ.ก.ส. เดินหน้าสนับสนุนสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี หลัง ครม. ปรับเพิ่มกรอบวงเงินกว่า4,500 ล้านบาท รวมเป็นกว่า 24,000 ล้านบาท รองรับปริมาณข้าวเปลือกได้ถึง 1.82 ล้านตัน ขยายเวลาขอสินเชื่อถึง 31 มี.ค. 64 และขยายวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3,800 ล้านบาท รวมเป็นกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับการจ่ายสินเชื่อและจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวให้กับเกษตรกรได้อย่างครบถ้วน เริ่มจัดทำสัญญา และจ่ายเงินประกันรายได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  เปิดเผยว่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 (เพิ่มเติม)เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยเป็นการปรับกรอบวงเงินจาก 19,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 4,504 ล้านบาท รวมเป็น 24,330 ล้านบาท โดยเป็น วงเงินสินเชื่อ จำนวน 3,500 ล้านบาท วงเงินค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว จำนวน 480 ล้านบาทและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 524 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับการชะลอปริมาณข้าวเปลือกเพิ่มเติมจำนวน 320,000 ตันข้าวเปลือก รวมเป็น 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก ณ ความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 ซึ่งข้าวเปลือกชนิดสีได้ต้นข้าวต่ำกว่า 20 กรัม ไม่รับเข้าร่วมโครงการ และข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 10,400 –11,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัดตั้งแต่ 8,900 – 9,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน ข้าวหอมปทุม 7,300 บาท/ตัน และข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน โดยเกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท  กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้ โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ย โดยขยายระยะเวลาจัดทำสัญญากู้จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็น 31 มีนาคม 2564 และภาคใต้ตั้งแต่เดือนมีนาคม – 31 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้เริ่มดำเนินการจัดทำสัญญาในรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

 

ด้านโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 (เพิ่มเติมครั้งที่ 2) ได้ปรับกรอบวงเงินจากเดิม 46,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 3,839 ล้านบาท รวมเป็น 50,646 ล้านบาท โดยเป็นเงินชดเชยการประกันรายได้ให้เกษตรกร วงเงิน 3,755 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ วงเงิน 84 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างครบถ้วน ซึ่งการประกันรายได้ดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคา

ข่าวเกี่ยวข้อง